หัวข้อ : “สามหวง” (三皇): เทพกสิกรเสินหนง (神农)

โพสต์เมื่อ 4 ก.พ. 2561, 13:31

“สามหวง” (三皇)ท่านที่สาม

เทพกสิกร (神农:เสินหนง)



เสินหนง (เทพกสิกร : 神农) ไม่ได้เป็นจักรพรรดิอีกเช่นกัน เพราะในยุคนั้นยังไม่มีแม้แต่กษัตริย์ มีแค่หัวหน้าเผ่า คำ “จักพรรดิ” (皇) เป็นเพียงคำยกย่องในความยิ่งใหญ่ มากคุณูปการของท่านเท่านั้น

เสินหนง คือผู้ซึ่งเล่าขานกันว่าเป็นผู้คิดค้นการทำกสิกรรมและการแพทย์สมุนไพรของจีน นับจากท่านฝูซีเป็นต้นมา เสินหนงถือเป็นบุคคลในตำนานอีกผู้หนึ่งซึ่งสร้างคุณูปการให้แก่ชนชาติจีนเป็นอย่างมาก โดยนอกจากจะคิดค้นวิธีการไถนาและประดิษฐ์คิดค้นคันไถแล้ว ยังเป็นผู้คิดค้นวิชาการแพทย์ กำหนดรูปแบบปฏิทิน บุกเบิกการชลประทานชักนำน้ำไปสู่ผืนนาเก้าผืนติดต่อกัน และนาม “เสินหนง” (神农 : เทพกสิกร) นี้ ก็ได้มาเพราะท่านเป็นผู้คิดค้นวิธีการทำกสิกรรมนั่นเอง

เล่าขานกันว่า เสินหนงมี “ท้องแก้วผลึก” มาแต่กำเนิด โดยที่ส่วนท้องแทบจะโปร่งใส สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน แล้วยังสามารถมองเห็นสิ่งที่รับประทานเข้าไปได้อีกด้วย ซึ่งในเวลานั้น ผู้คนมักจะล้มป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิตเพราะรับประทานสิ่งที่ไม่รู้จัก เสินหนงจึงได้ตั้งปณิธานออกเดินทางชิมพืชพรรณทุกชนิด  พืชชนิดใดมีรสอร่อยก็จะใส่ไว้ในถุงทางซ้ายของร่างกาย แล้วแนะนำให้ผู้คนรับประทาน พืชชนิดใดไม่อร่อย ก็จะใส่ไว้ในถุงทางขวาของร่างกาย เอาไว้ทำเป็นยา พืชชนิดใดรับประทานไม่ได้ก็จะเตือนผู้คนให้ทราบไว้

เหตุที่เสินหนงต้องประดิษฐ์คิดค้นการกสิกรรม ปลูกธัญพืช ก็เพราะในตำรา “ป๋ายหู่ทงอี้” (《白虎通义》) บันทึกเอาไว้ว่า ในสมัยโบราณ มนุษย์รับประทานเนื้อสัตว์สี่เท้าและสัตว์ปีกเป็นอาหาร จนมาถึงยุคสมัยของเสินหนง สัตว์สี่เท้าและสัตว์ปีกก็ไม่พอให้รับประทาน ดังนั้นเสินหนงจึงแบ่งที่ดิน สร้างคันไถ แล้วสอนให้ผู้คนทำงานเพาะปลูกในฤดูกาลอันเหมาะสม ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงได้รับสมญานามว่า “เทพกสิกร”

การก่อเกิดของการกสิกรรมทำให้มนุษย์มีอาหารมากพอที่จะรับประทานและเหลือเก็บตุนเอาไว้ เสินหนงจึงกำหนดให้มีตลาดนัด โดยให้ผู้คนนำอาหารที่เหลือเป็นส่วนเกินเพราะรับประทานไม่หมดและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาที่ตลาดนัดในเวลาเที่ยงของทุกวันเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ปรากฏการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในเขตชุมชนยุคแรกเริ่มขึ้น พร้อมกันนี้เสินหนงยังประดิษฐ์คิดค้นเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ อ่างดินเผา ไหดินเผา เป็นต้น

ตำนานเสินหนงออกเดินทางชิมพืชพรรณมีดังนี้

กาลครั้งนั้น ธัญพืชและวัชพืชงอกรวมปะปนกัน สมุนไพรกับมวลดอกไม้ก็ขึ้นปะปนกัน ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถแยกแยะได้ว่าพืชชนิดใดสามารถรับประทานได้ พืชชนิดใดสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ ชาวบ้านทั้งมวลล้วนอาศัยการล่าสัตว์ยังชีพ แต่หมู่นกบนท้องฟ้าและสัตว์สี่เท้าก็ถูกล่าจนลดจำนวนเหลือน้อยลงทุกที มนุษย์จึงได้แต่ทนหิวโหย ผู้ใดบาดเจ็บล้มป่วยก็ปราศยาจะใช้รักษา ทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนไม่น้อย

เสินหนงมองความทุกข์ของปวงประชาแล้วให้ทุกข์ใจนัก และพยายามคิดหาทางแก้อยู่เป็นเวลาสามวันสามคืน จากนั้นในเช้าวันที่สี่ ท่านก็ตัดสินใจนำขุนนางและชาวบ้านจำนวนหนึ่งออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูเขาสูงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

หลังจากเดินทางไปได้ 49 วัน ก็มองเห็นภูเขาสูงใหญ่ที่มีพืชพรรณประหลาดขึ้นอยู่เต็มไปหมดและส่งกลิ่นหอมรวยรินโชยมาแต่ไกล เสินหนงจึงนำเหล่าผู้ติดตามมุ่งหน้าตรงไปยังภูเขานั้นโดยต้องเผชิญกับการขัดขวางจากเหล่าสัตว์ป่าดุร้ายเป็นจำนวนมาก จนเหล่าผู้ติดตามน้อมเตือนให้ท่านเปลี่ยนใจเดินทางกลับเผ่าไป แต่เสินหนงปฏิเสธ และกล่าวว่า “กลับไปไม่ได้ ! ปวงประชาหิวโหยไม่มีอาหารจะกิน ล้มป่วยก็ไม่อาจรักษาได้อยู่เช่นนี้ แล้วข้าจะกลับไปได้อย่างไร !” จากนั้นจึงนำกลุ่มผู้ติดตามเดินทางต่อจนมาถึงตีนเขา

ภูเขาลูกนั้นสูงมากเสียจนครึ่งบนของภูเขาหายลับไปในม่านเมฆ ทั้งยังลาดชันดุจขวานถากและมีน้ำตกไหลลงมา มีตะไคร่น้ำเกาะเต็มไปหมด ทำให้ผนังลื่นมากจนไม่สามารถปีนขึ้นไปได้ แต่เสินหนงก็ไม่ย่อท้อ ในระหว่างที่กำลังคิดว่าจะหาทางปีนขึ้นไปยังยอดเขาที่มีกลิ่นหอมของพืชพรรณรวยรินลงมาอย่างไรดีนั่นเอง เสินหนงก็หันไปเห็นวานรขนทองตัวหนึ่งไต่ลงมาจากยอดเขาโดยอาศัยเถาวัลย์และลำต้นไม้ที่ขวางอยู่ตามโขดผา ทำให้ท่านนึกวิธีปีนขึ้นไปบนหน้าผาออก โดยนำเถาวัลย์และลำต้นไม้มาสร้างเป็นบันได โดยสร้างบันไดลำต้นไม้นี้วันละหนึ่งขั้น จวบจนหนึ่งปีผ่านไป ก็สามารถขึ้นไปจนถึงยอดผาได้ในที่สุด

เมื่อขึ้นไปถึงยอดผา เสินหนงก็พบว่าบนยอดผามีพืชพรรณรวมถึงดอกไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด จึงตัดสินใจปักหลักอยู่ชิมพืชพรรณทุกชนิดบนภูเขา และบันทึกสรรพคุณรวมถึงรูปร่างของพืชพรรณชนิดต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด

เสินหนงชิมพืชพรรณไปทั้งสิ้น 365 ชนิด และได้บันทึกรายละเอียดคุณสมบัติของสมุนไพรทั้ง 365 ชนิดนี้รวมเป็นตำราชื่อว่า “ตำราสมุนไพรเทพกสิกร” (เสินหนงเปิ๋นเฉ่า : 《神农本草》)

เนื่องจากเสินหนงเป็นหัวหน้าเผ่าซึ่งอยู่ในธาตุไฟ จึงมีสมญานามว่า เหยียนตี้[1] (炎帝 : จักรพรรดิแห่งไฟ) , ชื่อตี้ (赤帝 : จักรพรรดิแดง) , เลี่ยซานซื่อ (烈山氏) และกลายเป็นผู้นำชนเผ่าที่ร่วมแย่งชิงแผ่นดินกับหวงตี้(黄帝 : จักรพรรดิเหลือง)

ประเด็นปัญหาที่ว่าเสินหนงกับเหยียนตี้เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือเปล่านี้ เป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอดในหมู่นักประวัติศาสตร์จีน โดยนักประวัติศาสตร์จีนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเสินหนงและเหยียนตี้เป็นบุคคลคนเดียวกัน

ในบันทึกประวัติศาสตร์โบราณบันทึกถึงเสินหนงเอาไว้ดังนี้ :

การปกครองของเสินหนงได้ดำเนินสืบต่อกันมาเจ็บสิบรุ่น (บ้างก็ว่าสิบเจ็ดรุ่น) จวบจนถึงช่วงเวลาที่เผ่าของหวงตี้เริ่มเรืองอำนาจจึงค่อยเริ่มเสื่อมอำนาจ

อนึ่งเนื่องจากคำว่า “เสินหนง” รวมไปถึงคำนามเฉพาะก่อนหน้ายุคของเสินหนง อันได้แก่ “ฝูซี” , “หนฺวี่วา” จะเป็นคำที่ใช้เรียกชนเผ่านั้นๆ ทั้งชนเผ่า หรือเรียกรวมหัวหน้าของชนเผ่านั้นทั้งหมดทุกคนทุกรุ่น ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังจึงมักจะเกิดความเข้าใจผิดกันมากในเรื่องนี้ โดยคิดว่านั่นเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเพราะคำนามเหล่านั้นเป็นคำที่ใช้เรียกชนเผ่านั้นๆ ทั้งชนเผ่า หรือเรียกรวมหัวหน้าของชนเผ่านั้นทั้งหมดทุกคนทุกรุ่นนี่เองที่เป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดช่วงเวลาในการปกครองของฝูซี หนฺวี่วา และเสินหนง ถึงได้ยาวนานเป็นหลายร้อยหรือหลายพันปี

หากจะนับคร่าวๆ ว่าการปกครอง 1 รุ่นกินเวลานาน 30 ปี อย่างนั้นการปกครอง 77 รุ่นของท่านเทพกสิกรก็จะยาวนาน 2,000 กว่าปี (หากการปกครองยาวนาน 17 รุ่น ก็จะกินเวลานานประมาณ 500 ปี)

ยุคของหวงตี้อยู่ห่างไกลจากยุคปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 5,000 ปี ซึ่งหากคำนวณตามนี้ ก็จะสามารถประมาณได้ว่ายุคของเสินหนงห่างจากยุคปัจจุบันประมาณ 7,000 ปี ขณะที่จากบันทึกเกี่ยวกับเหยียนตี้นั้น เห็นได้ชัดว่าช่วงเวลามีความคลาดเคลื่อนเกินกว่าที่จะมาเป็นบุคคลคนเดียวกับเสินหนงผู้ให้กำเนิดการกสิกรรมได้ ส่วนเรื่องที่คำว่า “เหยียนตี้” เป็นคำเรียกเฉพาะของบุคคลเพียงคนเดียว หรือคำเรียกของชนเผ่านั้นทั้งชนเผ่าและหัวหน้าของชนเผ่านั้นทั้งหมดทุกรุ่น จนปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยมีกระแสความเชื่อหนึ่งกล่าวว่า “เหยียนตี้” มีด้วยกันทั้งสิ้น 8 รุ่น โดยรุ่นที่หนึ่งชื่อ “เสินหนง” และยุคสมัยของเหยียนตี้รุ่นที่ 1 นี้อยู่ก่อนยุคสมัยของหวงตี้หลายร้อยปี ส่วน “เหยียนตี้” ที่อยู่ในยุคเดียวกับหวงตี้ คือเหยียนตี้รุ่นที่ 8 ชื่อว่า “อวี๋หว่าง” (榆罔) ซึ่งกระแสความเชื่อนี้ได้โยงเสินหนงกับเหยียนตี้เข้าด้วยกัน โดยมองว่าทั้งชื่อ “เสินหนง” และชื่อ “เหยียนตี้” ต่างก็เป็นชื่อเรียกของหัวหน้าชนเผ่าเผ่าเดียวกัน

การที่หัวหน้าชนเผ่าหนึ่งจะมีหลายชื่อนั้นไม่ถือเป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใด แต่จากในบันทึกโบราณที่กล่าวว่าเสินหนงได้ดำเนินสืบต่อกันมา 70 รุ่น ไม่ว่าจะคำนวณจาก 70 รุ่นหรือจาก 17 รุ่น ก็ล้วนแต่เห็นได้ชัดว่าห่างไกลกันอย่างมากกับเหยียนตี้ที่มีเพียง 8 รุ่น ดังนั้นจากประเด็นนี้จึงทำให้เรื่องที่เสินหนงกับเหยียนตี้ที่ทำสงครามแย่งชิงดินแดนกับหวงตี้เป็นคนละคนกันจึงมีน้ำหนักความเป็นไปได้สูงมาก

 

เสินหนง(神农 : เทพกสิกร)
[1] ในสมัยโบราณ เผ่าที่ได้รับยกย่องให้มีอำนาจสูงสุด หัวหน้าเผ่าจะถูกเรียกว่า “ตี้” หรือ “หวง” ซึ่งในปัจจุบันจะแปลว่า “จักรพรรดิ” แต่หากดูตามความหมายที่แท้จริงในยุคนั้นแล้ว ควรที่จะแปลว่า “กษัตริย์” หรือ “ราชา” จะเหมาะสมกว่า เพราะประเทศจีนในเวลานั้นยังไม่ได้มีรูปแบบของ “ประเทศ” ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นแค่การรวมตัวกันของชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่าเท่านั้น โดยที่แต่ละชนเผ่ายังคงมีอำนาจในการปกครองตัวเองอย่างอิสระ ดังนั้น “ตี้” หรือ “หวง” ในยุคนั้นจึงไม่ได้มีอำนาจมากมายเช่นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช


แก้ไขเมื่อ 14 มี.ค. 2561, 11:07 โดย Admin

Admin เข้าร่วมเมื่อ 4 ก.พ. 2561, 13:31

0 ความคิดเห็น