หัวข้อ : แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการแปลราชาแห่งราชันค่ะ

โพสต์เมื่อ 7 ก.พ. 2555, 08:22

แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการแปลราชาแห่งราชันค่ะ

 

ทราบมาว่า ท่านผู้อ่านที่เพิ่งได้อ่านราชาแห่งราชันหลังจากที่ดิฉันลบเรื่องราชาแห่งราชันออกจากเว็บเด็กดีแล้ว หรือก็คือผู้อ่านที่เพิ่งได้อ่านหลังจากปี 2551 ได้เกิดข้อข้องใจหลายประการซึ่งดิฉันเคยได้อธิบายให้ทราบไปแล้วในระหว่างที่ยังคงโพสต์เรื่องราชาแห่งราชันลงในเว็บเด็กดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ก็ถูกลบตามเนื้อเรื่องไปหมดแล้ว ดังนั้นจึงขอเขียนอธิบายแปะไว้ที่นี่ซ้ำให้ได้ทราบโดยทั่วกัน

 

 

คำถาม

- ทำไมถึงแปลชื่อตัวละคร? ทับศัพท์ไปเลยยังจะดีกว่าอีก

- ทำไมไม่ใช้คำศัพท์ในเกมแบบที่คนเล่นเกมคุ้นเคย?

- ทำไมตอนจบดูห้วนและรวบรัดจัง?

 

คำตอบ

1. ก่อนอื่น ต้องขอให้ท่านเข้าใจก่อนว่า ในตอนที่นิยายเรื่องราชาแห่งราชันวางแผงนั้น สถานการณ์ของแผงหนังสือเป็นดังนี้

1.1 นิยายจีนอยู่ในยุคเสื่อมความนิยม นิยายกำลังภายในไม่ได้บูม และนิยายชุดมากกว่ารักของแจ่มใสเองก็เพิ่งจะเริ่มวางแผงในเวลาไล่เลี่ยกับราชาแห่งราชัน เร็วช้าต่างกันแค่ไม่กี่เดือน ในตอนนั้น นิยายที่ผู้อ่านวัยรุ่นนิยมอ่านกันคือนิยายแปลจากภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนนิยายจีน ส่วนใหญ่บ่นว่า ชื่อไม่คุ้น ชื่ออ่านยาก จำยาก แค่เห็นชื่อจีนก็ไม่อยากอ่านต่อแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกแอนตี้ต่อ "ชื่อภาษาจีนที่ไม่คุ้นและไม่ชอบ" มากที่สุด จึงต้องพยายามแปลชื่อในเกมที่สามารถแปลได้เป็นภาษาไทยเท่าที่เห็นว่าควรแปลและสามารถแปลได้

1.2 ไม่เคยมีนิยายแปลแฟนตาซีจีนมาก่อน (นิยายกำลังภายในไม่นับ) ไม่เคยมีนิยายแปลแนวเกมออนไลน์มาก่อน ราชาแห่งราชันเป็นเรื่องแรก สิ่งใดก็ตามที่เป็นเรื่องแรก นั่นคือการลองตลาด มีความเสี่ยงสูงมาก หากสำเร็จ ก็เท่ากับเป็นการเปิดตลาด หากล้มเหลว แนวนี้ไลน์นี้ก็เจ๊งไปเลย ในการริเริ่มกระทำ จึงต้องใช้ความระมัดระวังสูงมากๆ คิดถึงทุกปัจจัยทุกความเป็นไปได้ โดยต้องแปลแบบที่ทุกเพศทุกวัยสามารถอ่านได้ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เล่นเกมออนไลน์เพียงกลุ่มเดียว

 

2. เนื่องจากชื่อตัวละครในเรื่องราชาแห่งราชันส่วนใหญ่เป็นชื่อในเกม และชื่อในเกมนี้จะมีเกณฑ์ในการตั้งชื่อเยอะมาก มีทั้งที่ตั้งโดยเน้นที่ความหมาย และตั้งโดยไม่เน้นความหมาย ในการแปลจึงต้องใช้เกณฑ์ในการแปลหลายอย่างดังนี้

2.1 ชื่อคนจริงๆ จะแปลทับศัพท์ไปเลย เช่น เฉินเฟิง หลงเยี่ยอิ่ง

2.2 ชื่อที่เน้นความหมาย ก็ต้องเน้นความหมายตามต้นฉบับ คือแปลเป็นภาษาไทย เช่น วิหารจันทราเทพ ระลอกน้ำแห่งสารทม่วง อะไรก็ได้ คมพิรุณ ฯลฯ

2.3 ชื่อที่เน้นความหมาย แต่ภาษาไทยหาคำที่มีความหมายตรงตัวมาอธิบายให้สั้นไม่ได้ ก็ทับศัพท์ไป เช่น เซียวหยาว (แปลว่า อิสระสำราญและหล่อเท่)

2.4 ชื่อที่ภาษาจีนเขียนแล้วสั้น แต่แปลไทยแล้วยาว ให้ทับศัพท์ไปเลย เช่น เยี่ยหลาน (แปลว่า หมอกราตรีกลางภูเขา)

2.5 ชื่อที่ภาษาจีนกับแปลไทยยาวมากพอๆ กัน ให้แปลไทยไปเลย เพราะคนอ่านจะจำได้ดีกว่า เช่น กระต่ายคลั่งหนีจาก (เฟิงขวงเป้าโจ่วทู่) วันตะวันสดใสในเดือนเจ็ด (ชีเยว่เยี่ยนหยางเทียน) อาชากาฬเทพแดนประจิม (ซีอวี้เฮยเสินจวี)

2.6 ชื่อที่ทับศัพท์จากภาษาอื่น เช่นภาษาอังกฤษ จะถามผู้เขียนว่าทับศัพท์มาจากคำไหน แล้วเขียนด้วยคำนั้นไปเลย เช่น เลเอทท์ (เลี่ยเอ่อร์เท่อ) เลจจ์ (เหลยจี๋) ฮาร์ท (ฮาเท่อ) ฯลฯ

2.7 ชื่อที่ทับศัพท์จากภาษาญี่ปุ่น จะถามเพื่อนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นถึงเสียงอ่านแบบจีนของคำนั้น แล้วใช้ชื่อนั้น เช่น ชูจิโร่ โคบุ เคย์มะ

และเพื่อให้ท่านที่อยากได้ชื่อทับศัพท์พอใจ จึงได้ทำตารางชื่อตัวละครไว้ให้ท้ายเล่ม เพื่อที่ท่านที่ไม่ชอบให้ชื่อตัวละครถูกแปล และมีความสามารถที่จะจำชื่อตัวละครแบบทับศัพท์ได้ ตอนอ่านก็อ่านแบบทัพศัพท์อย่างที่ท่านชอบไปได้เลย

 

3. เนื่องจากต้นฉบับภาษาจีนของราชาแห่งราชันมีความเป็นแฟนตาซีมากกว่าเป็นแนวเกมออนไลน์ และเนื่องจากในเนื้อเรื่องต้นฉบับ ผู้เขียนก็เลี่ยงการใช้ศัพท์เกมที่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษเช่นกัน ดังนั้นศัพท์เกมที่มีแต่คนเล่นเกมที่รู้ จงใช้ให้น้อยที่สุด เช่น skill เควส บอส มอน ฯลฯ และในการเลือกคำศัพท์เหล่านี้มาแปล ดิฉันได้ปรึกษาเพื่อนๆ ที่เป็นคอเกมออนไลน์ (บางคนเป็นถึงนักเล่นเกมอาชีพที่ขายไอเท็มในเกม) แล้วถึงความเหมาะสมในการเลือกใช้คำเหล่านี้ โดยมิได้ตัดสินเอาเองโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งแต่อย่างใด และมิใช่แปลแบบนี้เพราะตัวเองไม่ถนัดศัพท์เกม และก่อนจะส่งต้นฉบับแปลให้สนพ. ดิฉันจะทั้งลงในเน็ตและให้เพื่อนที่เป็นคอเกมออนไลน์อ่านดูก่อน ว่าใช้ศัพท์แบบนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง หากมีตรงไหนที่เห็นว่าควรแก้ก็บอกมาได้เต็มที่ แต่ก็เห็นผู้อ่านในเว็บเด็กดีในตอนนั้นที่ส่วนมากเป็นคอเกมออนไลน์ก็โอเคกันดีกับรูปแบบการแปลแบบนี้ และตรงไหนที่เห็นว่าควรแก้ไขก็จะบอกกันตั้งแต่ยังอยู่ในเว็บ

 

4. เรื่องราชาแห่งราชันไม่ได้ดังเลยในไต้หวัน และด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ อาจจะเพราะยอดขายไม่ดี อาจจะเพราะบก.กับผู้เขียนไม่ถูกกัน ผู้เขียนจึงถูกบก.กลั่นแกล้ง เมื่อนิยายออกถึงเล่ม 9 ก็ถูกดองไว้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม ทั้งที่ต้นฉบับเล่ม 10 นั้น ผู้เขียนส่งไปให้บก.ตั้งแต่หลังจากเล่ม 9 วางแผงได้ประมาณ 1 เดือน หรือก็คือตั้งแต่เกือบสองปีก่อนแล้ว จนกระทั่งทางไทยเราซื้อลิขสิทธิ์ไป และในขั้นตอนการแปล ดิฉันมีคำถามที่ต้องให้ผู้เขียนมาตอบเยอะมาก (ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และ BUG ในเรื่อง) จนบก.ที่เดิมทีช่วยตอบแทนผู้เขียนให้ไม่สามารถตอบให้ได้ ต้องไปลากตัวผู้เขียนมาตอบ ผู้เขียนถึงได้ทราบว่า นิยายได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ไม่อย่างนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะโดนสนพ.อมค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้เขียนควรได้ไป เนื่องจากตามสัญญาที่ผู้เขียนเซ็นกับสนพ.ไต้หวัน การมอบลิขสิทธิ์ให้แก่สนพ.ต่างชาติเป็นของสนพ. ผู้เขียนไม่ต้องเซ็นชื่อ รอรับแต่ส่วนแบ่งอย่างเดียว ดังนั้นสนพ.จึงสามารถปกปิดเรื่องนี้กับผู้เขียนได้ง่ายมาก

 

5. เมื่อผู้เขียนรู้แล้วว่านิยายของตัวเองกำลังได้รับการแปลเป็นภาษาไทย บวกกับเรื่องนี้ถูกดองค้างเติ่งแค่เล่ม 9 มาเกือบสองปีโดยที่ยังไม่จบเรื่อง สิ่งที่สำนักพิมพ์ทำจึงเป็น มาหวดแส้เร่งคนเขียนให้เขียนให้จบเร็วๆ นักเขียนจึงโมโหต่อพฤติกรรมของสนพ.มาก เนื้อเรื่องช่วงท้ายที่เดิมตั้งใจไว้ว่าจะเขียนต่ออีกประมาณ 3 เล่ม เป็นทั้งเรื่อง 13 เล่มจบ ก็หมดใจ + หมดจินตนาการ + ไม่เหลือเวลาที่จะเขียน จึงต้องรวบรัดตอนจบจาก 3 เล่มเป็นเล่ม 11 เล่มเดียวไปเลย

 

6. เมื่อดิฉันทราบเรื่องนี้ ก็ได้คุยกับคนเขียนเพื่อขอให้เขาเขียนแก้ไขเล่ม 11 หรือไม่ก็เขียนเป็นภาค 2 เสริมให้เนื้อเรื่องจบสมบูรณ์ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะทางสนพ.ไต้หวันไม่ยอม ดังในกระทู้ เรียนทุกท่านที่ต้องการทราบเรื่องที่มาที่ไปของข่าว ราชาแห่งราชัน ภาค 2 ค่ะ

 

7. เมื่อทางไต้หวันไม่ยอม ทำให้เรื่องราชาแห่งราชันต้องจบลงอย่างห้วนเกินไปจนน่าเสียดาย จึงกลายเป็นความเสียใจของดิฉันมาโดยตลอดที่ไม่ระวัง เลือกเรื่องที่ยังไม่จบมาแปล ดังนั้นจึงตั้งใจเอาไว้มาตลอดว่า หากเป็นไปได้ก็จะเลือกนิยายเกมออนไลน์ที่เขียนสนุกและจบไม่ค้างคาอีกเรื่องมาแปลให้ได้อ่านกันเป็นการชดเชย ดังนั้นเรื่อง BOSS จินตนาการพิสดาร จึงเป็นเรื่องที่นำมาแปลเพื่อชดเชยให้แก่เรื่องราชาแห่งราชันที่จบห้วนเกินไปด้วยเหตุนี้ค่ะ

 

 

หลินโหม่ว

29 ส.ค. 2554

หลินโหม่ว เข้าร่วมเมื่อ 7 ก.พ. 2555, 08:22

2 ความคิดเห็น